วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สรุปสาระสำคัญ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต

สรุปสาระสำคัญ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต พอสังเขป

การเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต

      วิธีการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีหลายวิธี ดังนี้
  1. การเชื่อมต่อโดยสายสัญญาณเช่า (lease line) การเชื่อมต่อแบบนี้ จะต้องมีอุปกรณ์ เรียกว่า router เป็นตัวเชื่อม และจะต้องมี IP address จริงๆ ที่ไม่ซ้ำกับใครในโลก ซึ่งจะเชื่อมต่อ อินเตอร์เน็ตตลอดเวลา
  2. การเชื่อมต่อโดยใช้ dial-up modem ร่วมกับสายโทรศัพท์บ้านธรรมดา หรือสายโทรศัพท์ระบบ ISDN ต่อเข้า server ของ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือที่นิยม เรียกว่า ISP (internet service provider)
  3. การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยใช้ broadband connection อาจใช้อุปกรณ์ DSL modem หรือ cable modem วิธีนี้หากต่อด้วยโทรศัพท์บ้านจะสามารถใช้โทรศัพท์ได้ตามปกติขณะที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
  4. นอกจากวิธีการเชื่อมต่อที่กล่าวแล้ว คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย LAN (local area network) หากมีเครื่องใดเครื่องหนึ่งเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็สามารถ share ให้เครื่องลูกข่าย อื่น ๆ เข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ ปัจจุบันเครือข่ายไร้สายแพร่หลายเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่ายไร้สายจึงเห็นได้ทั่วไป


การค้นหา web site และ การเปิด เอกสาร HTML

      เมื่อผู้ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต โดยวิธีการใดๆ ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ใช้จะต้องเปิดโปรแกรม web browser จากนั้นจึงพิมพ์ URL ของ web site ที่ต้องการลงในช่อง address ซึ่งโปรแกรม web browser จะทำหน้าที่ค้นหา web site ตาม URL ที่ผู้ใช้พิมพ์ลงในช่อง address จากนั้น web browser จะเปิด web page หน้าแรกของ web site นั้นๆ ซึ่ง web page หน้าแรกของ web site นิยมเรียกกันว่า home page (URL ย่อมาจาก Uniform Resource Locator ซึ่งหมายถึงตัวกำหนดสถานที่ ที่เป็นแหล่งสารสนเทศ ซึ่งการกำหนด URL จะใช้รูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เช่น http://www.yahoo.com หรือ http://www.google.co.th เป็นต้น)


TCP/IP

      TCP/IP เป็น protocol (ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเครือข่าย) ไม่ว่าคอมพิวเตอร์เป็นประเภทใด ใช้ระบบปฏิบัติการใด ถ้าเชื่อมต่อกันโดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งใช้ protocol TCP/IP ก็จะสื่อสารกันได้อย่างสมบูรณ์ (TCP/IP ย่อมาจาก Transmission Control Protocol / Internet Protocol)


Client และ Server

      ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ 2 ประเภท คือ
  1. Client (เครื่องลูกข่าย) ได้แก่เครื่องของผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปเป็นเครื่องรับบริการในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เครื่องลูกข่ายแต่ละเครื่องจะต้องติดตั้ง
    • อุปกรณ์เครือข่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
      • Dial-up modem เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายผ่านสายโทรศัพท์บ้านธรรมดา หรือสายโทรศัพท์ระบบ ISDN
      • Router (คนไทยอ่านว่าเร้า-เต้อ แต่ dictionary ของฝรั่งออกเสียงว่า รู้ท-เต้อ) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายโดยสายสัญญาณเช่า (lease line)
      • DSL modem หรือ cable modem เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
      • LAN card หรือ wireless LAN card เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย LAN ซึ่งจะต้องมีอุปกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งใน 3 ชนิดข้างต้น เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต จากนั้นจึงกระจายสัญญาณให้เครื่องในเครือข่าย LAN
      • Air card อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น AIS หรือ DTAC โดย AirCard จะมีทั้งแบบที่เป็น PCMCIA หรือ ExpressCard ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับ notebook หรือ AirCard แบบ USB ที่ใช้กับ computer ได้ทุกเครื่องที่มี USB port
    • โปรแกรม web browser เช่น Internet Explorer, Fire Fox, Netscape Navigator และ อื่น ๆ
  2. Server (เครื่องให้บริการในระบบเครือข่าย) มีหน้าที่ให้บริการต่างๆ ในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น web server, mail server เป็นต้น web site ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้เรียกใช้ผ่าน web browser นั้นอยู่บน server ซึ่งบาง web site มี server ของตัวเอง บาง web site เช่า server จากผู้ให้บริการ ที่เรียกว่าบริการ web hosting ซึ่งมักให้บริการจดทะเบียน domain name ควบคู่ไปพร้อมกันด้วย โดยผู้สร้าง web site เพียงแต่ติดต่อขอใช้บริการจากผู้ให้บริการ เมื่อได้ชื่อ web site ได้ login name และ password มาแล้ว ผู้สร้าง web site ก็ upload เอกสาร html หรือที่เรียกว่า web page ขึ้นไปไว้ในไดเรกตอรี (directory) ที่ผู้ให้บริการกำหนดจากนั้นเครื่อง client ที่ใด ๆ ในโลกก็จะเปิด web site นั้นได้ทันที
          เครื่อง server จะต้องติดตั้งโปรแกรมระบบปฏิบัติการเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไป แต่เป็นระบบปฏิบัติการเฉพาะสำหรับ server ที่นิยมใช้กันมากได้แก่ Linux Server และ Microsoft Windows Server
          นอกจากโปรแกรมระบบปฏิบัติการแล้วเครื่อง server จะต้องติดตั้งโปรแกรมอื่น ๆ ตามความจำเป็นในการให้บริการ


IP address และ Domain name

      คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่ว่าเครื่องนั้นจะทำหน้าที่เป็น client หรือserver จะต้องมีหมายเลขประจำตัวทุกเครื่องซึ่งเรียกว่า IP address สำหรับ server จะมี IP address ที่กำหนดไว้แน่นอนไม่ซ้ำกับใครในโลก ส่วน client เมื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า Internet Service Provider (ISP) จะได้รับ IP address จากผู้ให้บริการโดย DHCP server ของผู้ให้บริการจะจ่ายมาให้ ดังนั้นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแต่ละครั้งอาจได้รับ IP address ไม่เหมือนกัน สำหรับเครื่องในเครือข่าย LAN จะใช้ IP address ที่เรียกว่า private IP กำหนดให้มีค่าอยู่ในช่วง 10.0.0.0 ถึง 10.255.255.255 หรือ 172.16.0.0 ถึง 172.31.255.255 หรือ 192.168.0.0 ถึง 192.168.255.255
(DHCP ย่อมาจาก Dynamic Host Configuration Protocol)
      หมายเลข IP ประกอบด้วยตัวเลข 4 ชุด แต่ละชุดมีค่าได้ตั้งแต่ 0 - 255 และมีจุดหรือ dot (.) คั่นระหว่างตัวเลขแต่ละชุด
      ในการเข้าเยี่ยมชม web site ต่าง ๆ จะต้องพิมพ์หมายเลข IP ของ web site นั้น ๆ ลงในช่อง address ของโปรแกรม web browser หลัง http:// เช่น http://202.143.146.147
      อย่างไรก็ตามการใช้หมายเลข IP เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่สะดวกเนื่องจากจำยากมาก จึงมีการใช้ domain name ซึ่งจำได้ง่ายกว่าแทน เช่น yahoo.com, msn.com, kaset-hinsorn.net, wikipedia.org, vec.go.th, google.co.th และ ku.ac.th เป็นต้น
      เมื่อผู้ใช้พิมพ์ domain name ของ web site ที่ต้องการลงในช่อง address ของโปรแกรม web browser เมื่อ domain name ถูกส่งออกสู่อินเตอร์เน็ต DNS server ของผู้ให้บริการจะแปลง domain name ให้เป็นหมายเลข IP ของ web site ทำให้ระบบสามารถค้นหา web site ที่ต้องการได้
      .com, .net และ .org เป็น domain name ที่ใช้กันทั่วไป ส่วน .go.th, .co.th และ .ac.th เป็นการใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น .go ใช้กับ web site ของทางราชการ .co ใช้กับ web site ของบริษัท และ .ac ใช้กับ web site ของสถาบันการศึกษา ส่วน .th หมายถึง web site ในประเทศไทยส่วนประเทศอื่น ๆ ก็จะใช้ตัวอักษรชุดสุดท้ายต่างกันไป เช่น .uk หมายถึง web site ในประเทศอังกฤษ .au หมายถึง web site ในประเทศออสเตรเลีย และ .jp หมายถึง web site ในประเทศญี่ปุ่นเป็นต้น


Subnet mask

      เป็นชุดตัวเลขที่ต้องระบุควบคู่กับหมายเลข IP Address หน้าทีของ Subnet mask อธิบายพอเข้าใจในเบื้องต้นว่าเป็นตัวเลขที่ช่วยกำหนดจำนวนคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย หรือกำหนดจำนวนเครือข่ายย่อยในเครือข่ายใหญ่ subnet mask ประกอบด้วยตัวเลข 4 ชุด แต่ละชุดมีค่าได้ตั้งแต่ 0 - 255 และมีจุดหรือ dot (.) คั่นระหว่างตัวเลขแต่ละชุดเช่นเดียวกับ IP Address
      Subnet mask ของเครือข่ายกำหนดเป็น Class ได้ดั้งนี้
  • Class C จะมี Subnet mask เป็น 255.255.255.0 อธิบายอย่างง่ายที่สุดตัวเลขนี้จะบอกได้ว่าในเครือข่าย Class C จะมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันได้ไม่เกิน 254 เครื่อง
  • Class B จะมี Subnet mask เป็น 255.255.0.0 อธิบายอย่างง่ายที่สุดตัวเลขนี้จะบอกได้ว่าในเครือข่าย Class B จะมีเครือข่ายย่อยแบบ Class C ที่เชื่อมต่อกันได้ไม่เกิน 254 เครือข่าย
  • Class A จะมี Subnet mask เป็น 255.0.0.0 อธิบายอย่างง่ายที่สุดตัวเลขนี้จะบอกได้ว่าในเครือข่าย Class A จะมีเครือข่ายย่อยแบบ Class B ที่เชื่อมต่อกันได้ไม่เกิน 254 เครือข่าย

บริการบนอินเตอร์เน็ต

จากเว็บไซต์ http://tc.mengrai.ac.th/paisan/e-learning/internet/menu4.htm
  • การรับส่งข่าวสารและการแสดงความคิดเห็น
             เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเครื่องมือในการรับส่งข่าวสารและแสดงความคิดเห็น ระหว่างผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหลายหลายวิธีการ ดังนี้
    • ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
               อีเมล์ หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นบริการอินเทอร์เน็ตชนิดหนึ่งที่ผู้คนนิยมใช้มากที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไป ให้สามารถติดต่อรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วอีเมล์ เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ย่อมาจาก Electronic Mail ในภาษาไทยบางครั้งเรียกว่า จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้คำว่า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอีเมล์เป็นวิธีการติดต่อสื่อสารด้วยตัวหนังสือแบบใหม่ แทนจดหมายบนกระดาษ แต่ใช้วิธีการส่งข้อความในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ จากเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังผู้รับอีกเครื่องหนึ่ง
               อีเมล์แอดเดรส (E-mail Address) คือ ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต หรือที่อยู่ของตู้จดหมายของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ใช้สำหรับบอกตำแหน่งของผู้รับว่าอยู่ที่ไหน
               ส่วนประกอบของอีเมล์แอดเดรส ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังตัวอย่างนี้
                         surachai_noi@yahoo.com
      • surachai_noi เป็นชื่อบัญชีสมาชิกของผู้ใช้เรียกว่า user name อาจใช้ชื่อจริง ชื่อเล่น หรือชื่อองค์กรก็ได้
      • เครื่องหมาย @ (at sign) อ่านว่า "แอท"
      • yahoo.com เป็นโดเมนเนม (Domain Name) ซึ่งเป็นที่อยู่ของอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ ที่เราสมัครเป็นสมาชิกอยู่ เพื่ออ้างถึงเมล์เซิร์ฟเวอร์
    • นิวส์กรุ๊ป (Newsgroup) หรือ ยูสเน็ต (UseNet)
               นิวส์กรุ๊ป (Newsgroup) หรือ ยูสเน็ต (UseNet) คือ การรวมกลุ่มของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น กลุ่มที่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ การเลี้ยงปลา การปลูกไม้ประดับ เป็นต้น เพื่อส่งข่าวสารหรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน ในลักษณะของกระดานข่าว (Bulletin Board) บนอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถเลือกหัวข้อที่สนใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยการส่งข้อความไปยังกลุ่ม และผู้อ่านภายในกลุ่มจะมีการร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็นและส่งข้อความ กลับมายังผู้ส่งโดยตรงหรือส่งเข้าไปในกลุ่มเพื่อให้ผู้อื่นอ่านด้วยก็ได้
    • การสนทนา (Chat หรือ Talk)
               เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้คนอื่นๆ ที่เชื่อมต่อเข้าระบบอินเทอร์เน็ตในเวลาเดียวกัน โดยการพิมพ์ข้อความผ่านทางแป้นพิมพ์ โดยพูดคุยผ่านทางคอมพิวเตอร์โดยมีการตอบโต้กันทันที web site ที่ให้บริการสนทนาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น msn
  • บริการด้านการติดต่อสื่อสาร
    • การขอเข้าใช้ระบบจากระยะไกล (Telnet)
               โปรแกรม Telnet เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต และสามารถใช้บริการสาธารณะต่างๆ เช่น บริการห้องสมุด ข้อมูลการวิจัย และสารสนเทศของเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้น ได้ราวกับว่ากำลังทำงานอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ ช่วยให้ไม่ต้องเดินทางไปทำงานอยู่หน้าเครื่องเหล่านั้นโดยตรง จึงถือเป็นบริการหลักที่สำคัญอย่างยิ่งของอินเทอร์เน็ต การใช้โปรแกรม Telnet ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ตนั้น จำเป็นต้องได้รับสิทธิเป็นผู้ใช้ในระบบนั้นก่อน แต่ก็มีระบบคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายอยู่อีกจำนวนมากอนุญาตให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใช้บริการได้
    • The Internet Telephone และ The Videophone
               ปกติการสื่อสารทางโทรศัพท์ผู้ใช้จะต้องยกหูจากเครื่องรับโทรศัพท์และพูดข้อความต่างๆ ระหว่างผู้รับ-ผู้ส่ง แต่เมื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นเครือข่ายการสื่อสารทั่วโลก ผู้ใช้สามารถเลือกหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการติดต่อโดยพูดผ่านไมโครโฟนเล็กๆ และฟังเสียงสนทนาผ่านทางลำโพง ทั้งนี้ผู้ใช้จะต้องมีโปรแกรมสำหรับใช้งาน รวมทั้งใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบมัลติมีเดียนอกจากนี้หากมีการติดตั้งกล้องวีดิทัศน์ ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของคู่สนทนาทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ เข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตแล้ว ภาพที่ได้จากการทำงานของกล้องวีดิทัศน์ ก็สามารถส่งผ่านไปทางอินเทอร์เน็ตถึงผู้รับได้ การสนทนาทางโทรศัพท์ จึงปรากฏภาพของคู่สนทนาทั้งผู้รับและผู้ส่ง บนจอคอมพิวเตอร์ไปพร้อมกับเสียงด้วย
  • บริการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล
             บริการการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล หรือบริการ FTP (File Trasfer Protocol) เป็นบริการของอินเทอร์เน็ตอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ โดยผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ข้อมูลตัวหนังสือ รูปภาพ เสียง วีดิโอ หรือโปรแกรมต่างๆ ซึ่งการถ่ายโอนข้อมูลนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะคือ
    • การถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลที่อยู่ในเครื่องของเราไปยังคอมพิวเตอร์ที่เป็นโฮสต์ (Host) เรียกว่า การอัปโหลด (Upload) ทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นสามารถใช้งานจากข้อมูลของเราได้
    • การที่เราถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลจากโฮสต์อื่นมายังคอมพิวเตอร์ของเราเรียกว่า การดาวน์โหลด (Download) ในการนำดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ มาใช้นั้น มีบริการอยู่ 2 ประเภท คือ Private FTP หรือ เอฟทีพีเฉพาะกลุ่ม นิยมใช้ตามสถานศึกษาและภายในบริษัท ผู้ใช้บริการจะต้องมีรหัสผ่านเฉพาะจึงจะใช้งานได้ ประเภทที่สองคือ Anonymous FTP เป็นเอฟทีพีสาธารณะให้บริการดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูลฟรีโดยไม่ต้องมีรหัสผ่าน ซึ่งปัจจุบันมีบริการในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโปรแกรมซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่ทางบริษัทต่างๆ คิดค้นขึ้นมาและต้องการเผยแพร่ไปสู่สาธารณชน ก็จะนำโปรแกรมมานำเสนอไว้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนใดสนใจก็สามารถใช้เอฟทีพีดึงเอาโปรแกรมเหล่านั้นมาใช้งานได้ โดยโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เรียกว่า ฟรีแวร์ (Freeware) และโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลดมาทดลองใช้ก่อน ซึ่งหากพอใจก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อตัวโปรแกรม เรียกว่า แชร์แวร์ (Shareware)
  • บริการค้นหาข้อมูล
             เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นระบบขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วโลก โดยมีแฟ้มข้อมูลต่างๆ มากมายหลายพันล้านแฟ้มบรรจุอยู่ในระบบเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นใช้งาน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีระบบหรือโปรแกรมเพื่อช่วยในการค้นหาแฟ้มได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
             Search Engines เป็นเครื่องมือช่วยค้นหาข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะของโปรแกรมช่วยการค้นหาซึ่งมีอยู่มากมายในระบบอินเทอร์เน็ต ได้แก่ google และ yahoo ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลสารสนเทศต่างๆ โดยผู้ใช้พิมพ์คำหรือข้อความ ที่เป็น keyword เข้าไป โปรแกรม Search Engines ก็จะแสดงรายชื่อของแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมา ซึ่งเราสามารถคลิกไปที่รายชื่อต่างๆ เพื่อเข้าไปดูข้อมูลตัวนั้นๆ ได้
  • บริการข้อมูลมัลติมีเดีย (multimedia)
             เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web : WWW) เป็นบริการบนอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากลักษณะเด่นของเวิลด์ไวด์เว็บ ที่สามารถนำเสนอข้อมูลมัลติมีเดียที่แสดงได้ทั้งตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ซึ่งมีอยู่มากมาย และสามารถรวบรวมลักษณะการใช้งานอื่นๆ ในระบบอินเทอร์เน็ตเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายโอนข้อมูล การสนทนา การค้นหาข้อมูล และอื่นๆ ทำให้เวิลด์ไวด์เว็บเป็นแหล่งข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยการเข้าสู่ระบบเวิลด์ไวด์เว็บ จะต้องใช้โปรแกรมการทำงานที่เรียกว่า เว็บเบราเซอร์ (Web Browser) เป็นตัวเชื่อมเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ลักษณะของเวิลด์ไวด์เว็บ คือ การนำเสนอข้อมูลต่างๆ มากมายในลักษณะหน้ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า เว็บเพจ (Web Page) เปรียบเสมือนหน้าหนังสือ หรือหน้านิตยสาร ซึ่งสามารถบรรจุข้อความ รูปภาพ และเสียงไว้ได้ด้วย โดยที่หน้าแรกของเว็บเพจ เรียกว่า โฮมเพจ (Home Page) ซึ่งภาษาที่ใช้ในการเขียนเว็บเพจ ให้สามารถดูได้ในเวิลด์ไวด์เว็บ เรียกว่า HTML (Hypertext Markup Language) เมื่อเราเอาเว็บเพจหลายๆ เว็บเพจมารวมกันในแหล่งเดียวกัน เราเรียกว่า เว็บไซต์ (Web Site) เว็บไซต์แต่ละที่จะถูกเก็บไว้ในเว็บเซิร์ฟเวอร์ (Web Server) แต่ละแห่ง โดยแต่ละแห่งก็จะมีโฮสต์ของตนเองทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาข้อมูล ซึ่งโดยปกติจะเปิดอิสระให้ทุกคนเข้าไปเปิดดูข้อมูลได้ ขอเพียงแต่ให้ผู้ใช้ทราบที่อยู่ของเว็บเซิร์ฟเวอร์นั้นๆ ซึ่งที่อยู่นี้เรียกว่า ยูอาร์แอล (Uniform Resource Locator - URL) ซึ่งแต่ละยูอาร์แอลจะมีชื่อไม่ซ้ำกัน เช่น www.hotmail.com โฮมเพจหรือเว็บเพจของแต่ละเว็บไซต์ จะมีทั้งข้อความและรูปภาพ ซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม เอกสารเหล่านี้จะมีข้อความที่บรรจุอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นหัวข้อ กลุ่มคำ หรือรูปภาพที่สัมพันธ์กับเนื้อหา แต่ไม่ได้แสดงเนื้อหาทั้งหมดไว้ในหน้าเดียว หากแต่มีคำสำคัญที่เน้นเป็นจุดเด่น มีสีสันชัดเจน หรือขีดเส้นใต้ไว้ ซึ่งโดยทั่วไปถ้าเราเอาเมาส์ไปวางไว้บนข้อความหรือรูปภาพนั้นๆ สัญลักษณ์ของเมาส์ก็จะเปลี่ยนจากรูปลูกศรมาเป็นรูปมือ ถ้าหากผู้ใช้ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ก็คลิกที่ข้อความหรือรูปภาพนั้น เว็บเพจที่เกี่ยวข้องกับข้อความหรือรูปภาพนั้นก็จะถูกเปิดขึ้นมา ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่าการเชื่อมโยงด้วย ไฮเปอร์ลิงก์ (Hyperlink) ซึ่งทำให้เราสามารถเชื่อมโยงหรือลิงก์ไปยังเว็บเพจอื่นๆ ในเว็บไซต์เดียวกัน และลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ได้อย่างไม่จำกัด